วันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2557

“ Job Description เครื่องมือสำคัญในการบริหารองค์กร ” ตอนที่ 2

JD กับการสรรหาและคัดเลือก    
ตอนที่ 1  ผมนำ JD มาเปรียบเทียบบทละคร เพื่อให้ทุกท่านเห็นภาพให้ชัดเจนยิ่งขึ้น  ครั้งนี้ผมก็นำบทละครมาใช้อธิบายอีกครั้ง  หลายท่านอาจจะสงสัยว่าบทละคร หรือ JD จะมีความสำคัญอะไรหรือช่วยอะไรได้ในการสรรหาและคัดเลือกผู้แสดง  ถ้าท่านจำได้ ผมได้บอกไปแล้วองค์ประกอบของบทละคร ( JD ) จะมีการระบุบทบาทหน้าที่ (Role & Responsibility) และคุณสมบัติของผู้แสดง (Specification)      ซึ่งองค์ประกอบทั้งสองส่วนนี้นี่แหละ ที่จะถูกนำมาใช้สรรหาและคัดเลือกผู้แสดง    

โดยการสรรหาผู้แสดงนั้น เราจะพิจารณาคุณสมบัติที่กำหนด เช่น หากผมต้องการนักแสดงที่มาสวมบท สายน้ำผึ้ง ( ตัวร้ายในละครสามีตีตรา ที่จุ๋ย วรัทยา เป็นผู้แสดง ) ผมก็ต้องไปศึกษาก่อนว่า ในบทละคร สายน้ำผึ้ง  จะมีลักษณะเป็นอย่างไร   จากนั้นผมจึงค่อยไปดำเนินการสรรหานักแสดง หรือดาราที่มีลักษณะตรง หรือใกล้เคียงกับคุณสมบัติที่กำหนด

หลังจากที่สรรหานักแสดงที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการ  ก็จะต้องมีการทดสอบแสดง ( Casting ) ก่อน เพื่อดูว่านักแสดงผู้นั้นจะสามารถแสดง สวมบทบาทตัวละครได้หรือไม่  ซึ่งขั้นตอนการคัดเลือกนักแสดง นั้นจะต้องนำบทมาละครมาใช้ในการสวมบทบาทเพื่อคัดเลือก  ก็ไม่ต่างอะไรจากการคัดเลือกพนักงานเข้าทำงาน ที่จะต้องมีการทดสอบ สัมภาษณ์ก่อน ซึ่งแบบทดสอบและคำถามที่ใช้ในการคัดเลือกก็ถูกกำหนดมาจาก หน้าที่งาน ( Job Duty ) ที่ระบุใน JD นั่นแหละ

JD กับการพัฒนาบุคลากร
ทุกคนอาจจะสงสัยว่าแล้วบทละคร (JD) มีความเกี่ยวข้อง หรือมีความสำคัญอย่างไรกับการพัฒนาบุคลากร  ผมต้องถามกลับไปว่า   คุณแน่ใจได้อย่างไรว่านักแสดงที่คุณคัดเลือกและจ้างเข้ามานั้น สามารถแสดงในบทบาทที่คุณกำหนดได้ตามที่คุณต้องการ ?? ” งงล่ะซิ

ไม่ว่าคุณจะเป็นนักแสดงที่เก่งแค่ไหน แต่คุณก็อย่าลืมว่าคุณอาจไม่สามารถแสดงบทบาทได้ดีในทุกตัวละครได้  หรือแม้กระทั่งคุณอาจเป็นนางร้ายที่สวมบทบาทได้เยี่ยมในละครเรื่องหนึ่ง  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะสวมบทบาทนางร้ายที่ดีในละครอีกเรื่องก็ได้ เพราะลักษณะของนางร้ายของละครสองเรื่องมันมีความต่างกัน  เรื่องแรกอาจจะร้ายแบบเปิดเผย เจอนางเอกที่ไหนเป็นอันต้องตบ ขี้วีนตลอดเวลา  แต่อีกเรื่องอาจจะร้ายแบบแอ๊บแบ๊วก็ได้ 

ดังนั้น บทละครจึงจะเป็นตัวกำหนดว่าคนที่มีจะสวมบทบาทในละครนั้น จำเป็นจะต้องมีความรู้ ทักษะและคุณลักษณะอย่างไร (Competency : Knowledge, Skill ,Attribute) เพื่อให้นักแสดงสามารถสวมบทบาทตัวนั้นได้อย่างสมบทบาท  ผมยกตัวอย่างง่ายๆ จากละครยอดฮิตที่เพิ่งลาจอไปอย่าง  อย่าลืมฉัน  คุณทราบหรือไม่ว่า พระเอกขั้นเทพอย่าง พี่ก้อง สหรัถ ยังต้องไปลงเรียนการเต้นบัลเล่ต์เพิ่มเติม  เพื่อให้สามารถแสดงในฉากที่ต้องเต้นคู่กับเกนหลง ซึ่งมีด้วยหลากฉาก   เช่นเดียวกันกับโลกของการทำงาน  ที่จะต้องพัฒนาความสามารถของพนักงาน โดยจะต้องมีกำหนดความสามารถที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน ( Functional Competency ) ในแต่ละตำแหน่ง ซึ่งกำหนดจากหน้าที่งานที่ระบุใน JD  โดยใช้หลักการง่ายๆ ว่า ถ้าหากคุณต้องการให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งงานนั้นๆ สามารถปฏิบัติงานตามที่ระบุใน JD เขาจะต้องมีความรู้( Knowledge ) ทักษะ ( Skill) และคุณลักษณะ ( Attribute ) เรื่องใดบ้าง


นอกจาก JD จะช่วยในการกำหนดความสามารถที่จำเป็นแล้ว  JD ยังจะช่วยทำให้คุณอีกด้วยว่า หากคุณต้องก้าวหน้า หรือเลื่อนขั้นคุณจะต้องรับผิดชอบงานใดบ้าง , ต้องมีคุณสมบัติ และความสามารถอย่างไร เพื่อใช้วางแผนพัฒนาและเตรียมความพร้อมให้กับตนเองได้

JD กับการบริหารค่าตอบแทน
คุณอาจจะสงสัยว่า JD ไปเกี่ยวอะไรกับการบริหารค่าตอบแทน  ต้องบอกมีความเกี่ยวข้องกันครับ แต่เป็นในเรื่องของการประเมินค่างาน( Job Evaluation ) กล่าวคือ ก่อนที่จะนำไปบริหารค่าตอบแทน หรือค่าจ้าง  จำเป็นจะต้องมีการประเมินค่างานก่อน เพื่อเปรียบเทียบว่าแต่ละตำแหน่งงานมีความสำคัญอยู่ในระดับใด เพื่อนำเปรียบเทียบและจัดลำดับชั้นงาน ( Job Classification ) ซึ่งการประเมินค่างานและการจัดลำดับชั้นงานจะเป็นตัวบอกว่าตำแหน่งงานใดมีความสำคัญอยู่ในระดับไหน โดยถ้าเป็นละคร เราทุกคนอาจจะคิดว่ายังไงนางเอก ก็ย่อมสำคัญกว่าตัวร้าย แต่ความเป็นจริง ผมต้องบอกว่าไม่ใช่  หากคุณเคยดูละคร แรมพิศวาส  จะเห็นได้ว่า เดือนแรม ( แพท ณปภา ) นางเอกของเรื่องนั้น   มีบทบาทและความสำคัญของเรื่องน้อยกว่า ผกา ( หน่อย บุษกร ) อย่างเห็นได้ชัด   ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นว่าตำแหน่งงานที่สูงกว่าจะมีค่างานมากกว่าตำแหน่งงานที่ต่ำกว่าเสมอไป  มันขึ้นอยู่กับความสำคัญ หรือค่างานของตำแหน่งนั้นต่างหาก

แล้วการประเมินค่างาน ( Job Evaluation ) เขาทำกันอย่างไร ? ...... ก็ต้องใช้ JD อีกนั่นแหละ เพราะ JD สามารถบอกได้ว่าตำแหน่งงานทำงานอะไรบ้าง , มีความเสี่ยงอย่างไร , ต้องติดต่อประสานงานกับใครบ้าง , ต้องจบการศึกษา อะไรมา , ประสบการณ์ในงานเท่าไหร่ และต้องคุณลักษณะ หรือความสามารถอย่างไร    ฉะนั้นจึงไม่มีอะไรแล้วที่สำคัญกว่า JD ในการประเมินค่างาน

JD กับการบริหารผลงาน
การทำงานอะไรก็แล้วแต่มันต้องมีเป้าหมาย  ...ถูกไหม ?? ซึ่งพวกเราผึ้งงานมักจะต้องประสบพบเจอกับการประเมินผลปฏิบัติงานเป็นประจำ  แล้วคุณสงสัยไหมว่าเขาประเมินอะไรเรา  เอาเกณฑ์อะไรมาประเมิน   จากประสบการณ์ส่วนตัวเคยพบว่าการประเมินผลปฏิบัติงาน
กลับกลายเป็นการช่วยพนักงานที่ค่าแรงน้อย หรือพนักงานที่มีความสนิทสนมกัน มีการล็อบบี้ผลงานไว้ล่วงหน้า งงล่ะสิ มีจริงครับ  ไม่ใช่การประเมินผลงานที่แท้จริง จับต้องไม่ได้  จริงๆ แล้ว การประเมินผลปฏิบัติงาน( Performance Appraisal ) เป็นการประเมิน เพื่อให้ทราบว่าผลงานของพนักงานแต่ละคนเป็นอย่างไร  เพื่อนำไปวางแผนปรับปรุงและพัฒนา แต่ส่วนใหญ่กลับเข้าใจผิด ใช้งานไปคนละทาง

การประเมินผลงาน จะมีการกำหนดเกณฑ์ตามความต้องการของแต่ละองค์กร ซึ่งจะมีทั้งการประเมินงานที่ปฏิบัติ , พฤติกรรมความสามารถรวมจนถึงนำเวลาการทำงาน และการเข้าร่วมกิจกรรมมาใช้เป็นเกณฑ์การประเมินด้วย  ซึ่งก็สามารถทำได้ทั้งหมดครับ แต่เกณฑ์ที่ใช้นี่แหละสำคัญ กำหนดมาจากอะไรกันครับ ??  โดยทั่วไปแล้วการวัดผลงานจะวัดจากตัวชี้ผลงานหลัก หรือที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดีว่า KPIs ซึ่ง KPIs วัดผลงานของแต่ละตำแหน่งงานก็จะกำหนดมาจากหน้าที่งานใน JD ของแต่ละตำแหน่งนั้น 
ทิ้งท้ายก่อนจบ
จากที่ผมพร่ำเพ้อมาทั้งหมด  เป็นความสำคัญของ JD ที่มีต่อการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล ซึ่งหลายท่านอาจจะมองว่าเป็นประโยชน์กับฝ่ายบุคคลรึเปล่าถึงนำมาเล่า  ไม่ใช่ครับ.... หากคุณมี JD ที่ดีและสามารถใช้งานเป็น ประโยชน์เหล่านี้มันจะสะท้อนกลับมาหาเราทุกคน ทุกคนต้องอย่าลืมว่าที่ทุกบริษัทพยายามพัฒนาระบบบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพื่ออะไร  ... คำตอบ ก็คือ ก็เพื่อเราทุกคน

เพราะทุกคนต้องอย่าลืมว่า พวกเราคือ ทรัพยากรบุคคล ของบริษัท  พบกันครั้งหน้าครับ  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น